top of page
Writer's pictureSon Thamanoonkul

คณะวนศาสตร์ มก. ผนึกกำลัง “เข็มเหล็ก” และ มจพ. เดินหน้าร่วมวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ค้ำยันต้นไม้ ด้วยฐานรา



คณะวนศาสตร์ มก. ผนึกกำลัง “เข็มเหล็ก” และ มจพ. เดินหน้าร่วมวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ค้ำยันต้นไม้ ด้วยฐานรากเสาเข็มเหล็ก พัฒนาวนผลิตภัณฑ์เพิ่มประสิทธิภาพการดูแลต้นไม้ พร้อมยกระดับองค์ความรู้เพื่อการปลูกและดูแลต้นไม้ในชุมชนเมืองอย่างยั่งยืน


การขับเคลื่อนเศรษฐกิจต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการร่วมพัฒนาทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล จากการเปลี่ยนแปลงของโลกในหลายมิติ ได้นำไปสู่ปัญหาความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อมและทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นธุรกิจจึงจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการที่ดีและสร้างความสมดุลให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตไปควบคู่กับสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน


อีกหนึ่งความร่วมมือที่น่าสนใจระหว่างภาคเอกชนโดย บริษัท เข็มเหล็ก จำกัด และภาคการศึกษาชั้นนำของไทย คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถาบันนวัตกรรมเทคโนโลยีไทย-ฝรั่งเศส มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ในการถ่ายทอดเทคโนโลยี องค์ความรู้ ประสบการณ์ พัฒนางานวิจัยด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ค้ำยันต้นไม้ ที่ใช้ฐานรากเสาเข็มเหล็กและวัสดุก่อสร้างต่างๆ พร้อมพัฒนาวนผลิตภัณฑ์ เครื่องมือและอุปกรณ์สำรวจความสมบูรณ์ของต้นไม้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลต้นไม้ในชุมชนเมือง และยกระดับองค์ความรู้ในการปลูกและดูแลต้นไม้ในชุมชนเมืองอย่างยั่งยืน



ผศ.ดร.กอบศักดิ์ วันธงไชย คณบดีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่าปัจจุบัน มนุษย์โหยหาธรรมชาติและต้องการสิ่งแวดล้อมที่ดีมากขึ้นจึงมีการนำต้นไม้เข้ามาอยู่ในบริบทของความเป็นเมือง เดิมธรรมชาติของต้นไม้อยู่ในป่า เมื่อย้ายมาอยู่ในเมืองจึงต้องให้การดูแลมากขึ้น องค์ความรู้ทางวนศาสตร์จึงจำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้จากอีกหลากหลายสาขาเข้ามาช่วย และนับเป็นเรื่องดีที่บริษัทเข็มเหล็ก ซึ่งมีองค์ความรู้การใช้ค้ำยันต้นไม้ และเมื่อมีโครงสร้างหรือค้ำยันที่ดีแล้ว ต้องร่วมกันพัฒนาการตรวจสอบและประยุกต์ระบบต่างๆ ที่โครงสร้างหรือฐานราก โดยใช้เทคโนโลยี IOT ช่วยในการใส่ปุ๋ย รดน้ำ ถือเป็นการร่วมกันประยุกต์องค์ความรู้ที่มี เพื่อทำให้ต้นไม้เติบโตและแข็งแรงจนสามารถทำหน้าที่ให้บริการจากระบบนิเวศ (Ecosystem Services) ต่อมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในเมืองได้อย่างเต็มที่


“ความร่วมมือของ 3 หน่วยงานในครั้งนี้ถือเป็นการขยายโอกาสด้านวิชาการ และวิชาชีพให้กับนิสิตได้ร่วมงานกับภาคเอกชนที่มีวิสัยทัศน์ เชื่อว่าเมล็ดพันธุ์ที่คณาจารย์บ่มเพาะจากคณะวนศาสตร์ จะเขาไปสร้างป่า สร้างต้นไม้ สร้างพื้นที่สีเขียวให้กับเมือง ให้กับประเทศของเราในอนาคตได้ นี่คือสิ่งที่อยากเห็นและเชื่อว่าจะได้เห็น” คณบดีคณะวนศาสตร์กล่าวอย่างมั่นใจ


ด้าน นายประเสริฐ ธรรมมนุญกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เข็มเหล็ก จํากัด กล่าวว่า เข็มเหล็กเริ่มต้นความร่วมมือกับสถาบันนวัตกรรมเทคโนโลยี ไทย-ฝรั่งเศส มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ร่วมวิจัยและเป็นสถานสหกิจศึกษา (Co-operative Education) ถือเป็นการเตรียมพร้อมทางด้านบุคลากรที่จะมาร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับธุรกิจฐานรากไทย รวมไปถึงค้ำยันต้นไม้ที่มีคุณภาพ และระบบวิศวกรรมอื่นๆ ในโอกาสนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาต่อยอดด้านการออกแบบและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ค้ำยันต้นไม้ ที่ใช้ฐานรากเสาเข็มเหล็กและวัสดุก่อสร้างต่างๆ ให้สวยงาม แข็งแรง

คงทน ปลอดภัย จึงได้ประสานไปยังคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จนนำมาสู่การ MOU ในครั้งนี้ ซึ่งชี้ให้เห็นถึงโอกาสในการแก้ปัญหาการดูแลต้นไม้ที่ล้อมมาปลูกซึ่งไม่มีรากแก้ว โดยต้นไม้กลุ่มนี้ต้องได้รับการค้ำยันจนกว่าจะสามารถเติบโตเองได้ หรือต้นไม้บางกลุ่มอาจจะต้องใช้ค้ำยันตลอดชีวิต สอดรับกับผลิตภัณฑ์ค้ำยันต้นไม้ Flexi Tree ของเข็มเหล็กสามารถตอบโจทย์การปรับเปลี่ยนได้ตามโครงสร้างต้นไม้ มาพร้อมความแข็งแรง ช่วยปกป้องต้นไม้ให้เติบโตได้อย่างยาวนาน เข็มเหล็กจึงเปรียบเสมือนเป็นรากแก้วของต้นไม้ ไม่ต้องเปลี่ยนไม้ค้ำยันบ่อยๆ เหมือนที่ผ่านมาซึ่งส่วนใหญ่ใช้ไม้ยูคาลิปตัส เมื่อผ่านไป

ไม่นานต้องเปลี่ยนค้ำยัน ทำให้เสียเวลาและทรัพยากร ดังนั้นความร่วมมือในการศึกษาวิจัยและพัฒนาวนผลิตภัณฑ์ เครื่องมือและอุปกรณ์สำรวจความสมบูรณ์ของต้นไม้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลต้นไม้ในชุมชนเมือง รวมถึงยกระดับองค์ความรู้ของนักศึกษา บุคลากรและอาจารย์ของคณะฯ จึงถือเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือที่สำคัญ


“เข็มเหล็กจะร่วมพัฒนาวนผลิตภัณฑ์ เครื่องมือและอุปกรณ์สำรวจความสมบูรณ์ของต้นไม้ อาทิการฝั่งเซ็นเซอร์ เพื่อตรวจจับระบบน้ำ ปุ๋ย ความชื้นของดินและประมวลผลว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้ต้นไม้เหล่านั้นเติบโตได้สมบูรณ์ อีกทั้งความร่วมมือครั้งนี้ยังเป็นการส่งเสริมให้น้อง ๆ เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ศึกษาในคณะวนศาสตร์ได้มีโอกาสร่วมงานกับภาคเอกชนที่มีวิสัยทัศน์ที่ตรงกัน มาร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เกี่ยวกับต้นไม้ ซึ่งเข็มเหล็กมองเห็นโอกาสมหาศาลอยู่ข้างหน้า” CEO เข็มเหล็กกล่าว



ขณะที่ ผศ.ดร.วัฒนา แก้วมณี ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมเทคโนโลยีไทย-ฝรั่งเศส มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวว่า สถาบันเทคโนโลยีไทย-ฝรั่งเศส เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลฝรั่งเศส มีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศฝรั่งเศสมาสู่ภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมประเทศไทย ในส่วนกิจกรรมความร่วมมือกับเข็มเหล็กที่ผ่านมา เป็นการวิจัยและร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างความมั่นใจในการใช้งานผลิตภัณฑ์ของเข็มเหล็ก ด้วยการให้คำปรึกษาในการพัฒนาห้องปฏิบัติการ เพื่อทดสอบเข็มเหล็ให้ได้มาตรฐาน 1.025 ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล สำหรับประเด็นหลักในการร่วมมือของ 3 หน่วยงานในครั้งนี้ ถือเป็นการขยายความร่วมมือมาสู่เรื่องการดูแลต้นไม้ใหญ่ การได้ร่วมมือกับเข็มเหล็กและคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถือเป็นความท้าทายในการร่วมกันพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งก่อนหน้านี้มีการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการเกษตรที่เรียกว่า Smart Farm ไปแล้ว แต่ปัจจุบันการนำเอาเทคโนโลยีมาช่วยในเรื่องการดูแลต้นไม้ใหญ่ ยังไม่มีหน่วยงานไหนทำมาก่อน หรืออาจจะมีน้อย จึงมองว่าเป็นโอกาสที่ดีทั้งด้านการพัฒนาองค์ความรู้และการพัฒนาธุรกิจ


ในหลายประเทศต้นไม้เปรียบเหมือนหน้าตาของบ้านเมือง เมื่อเห็นต้นไม้สวยงามสุขภาพดี ก็สะท้อนได้ว่าเมืองนั้นน่าอยู่ ความร่วมมือในครั้งนี้ตั้งเป้าที่จะได้เห็นต้นไม้ในเมืองเติบโตอย่างสมบูรณ์ ไม่ถูกทิ้งขว้าง ได้รับการดูแลอย่างถูกวิธี พร้อมกับพัฒนาศักยภาพของนิสิตนักศึกษา เพื่อให้มีช่องทางการประกอบอาชีพในอนาคต โดยเฉพาะสายอาชีพที่เกี่ยวข้องกับ BCG ซึ่งรัฐบาลและทั่วโลกให้ความสำคัญ ดังนั้นการทำงานร่วมกันครั้งนี้ของ 3 หน่วยงาน จะส่งผลให้นิสิตของทั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และพระนครเหนือ หรือแม้แต่นักศึกษาทั่วไป จะได้มองเห็นโอกาสของการประกอบอาชีพที่เป็นอาชีพสีเขียว อาชีพที่สร้าง

ความเขียวขจีให้กับประเทศ จากจุดเริ่มต้นของความร่วมมือในวันนี้



0 views0 comments

Comments


bottom of page